ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ไหวตัวทัน! 4 วิธีการรับมือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไทย

Business

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารไทย คงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้กู้หลายคนขนลุกไปตาม ๆ กัน เพราะรู้ชะตากรรมของตนเองว่า ต้องมีการจ่ายค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงคนที่กำลังมีความคิดว่าจะกู้เงินจากธนาคารก็ต้องชะงักแผนที่วางไว้เอาไว้ก่อน แต่ทว่าบางคนที่เป็นมือใหม่ กำลังจะเริ่มสร้างความมั่นคงทางการเงินให้ตนเอง เช่น มีความคิดที่จะกู้เงินมาลงทุนสักก้อน พอต้องเจอเหตุการณ์นี้อาจจะไม่รู้ว่าต้องวางแผนอย่างไรต่อ ดังนั้นเราจำเป็นต้องไหวตัวให้ทันเมื่อธนาคารมีนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้รับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้รวดเร็วที่สุด และป้องกันการเสียประโยชน์ของตนเอง

อัตราดอกเบี้ยคืออะไร? ทำไมถึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย?

‘อัตราดอกเบี้ย’ คือ อัตราการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมเงินต้น โดยถูกกำหนดจากผู้ให้สินเชื่อหรือธนาคาร คำนวณจากเงินที่ยืมไปใช้จ่ายตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการกู้ยืม อย่างไรก็ตามธนาคารนั้นสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือลดอัตราดอกเบี้ยได้ ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขและกฎระเบียบของแต่ละสถาบันการเงินที่กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารกลาง

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเสี่ยงทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยคงที่ของตลาด นโยบายเศรษฐกิจ และอัตราผลตอบแทน การเลือกอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับการกู้ยืมหรือการใช้บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายรวมของผู้กู้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ควรใช้ความระมัดระวังในการตกลงทำข้อกำหนดของเงื่อนไขในสัญญา เพื่อความชัดเจนและป้องกันความขัดแย้งในอนาคต

‘แล้วทำไมต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย?’ โดยปกติแล้วการขึ้นดอกเบี้ยเป็นการผลักดันทางอ้อมที่จะทำให้คนลดการใช้จ่ายลง ชะลอการกู้ยืมลง และเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นคนจะหันมาฝากเงินมากขึ้นแทน เพราะค่าตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยจะได้รับมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่นโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยมักจะถูกนำมาใช้จณะที่ประเทศเกิด ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ เพื่อช่วยสร้างสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศนั่นเอง

ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

4 วิธีการรับมือเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างที่ใคร ๆ เขาก็ว่ากัน “ยิ่งเรารู้เยอะ มักจะเห็นโอกาสจากวิกฤต” เรียกง่าย ๆ คือ เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้! หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เราจำเป็นต้องมีสติและมีการใช้แผนสำรองแบบต่าง ๆ เพื่อรับมือกับทุกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวิธีการรับมือเมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้น มีทั้งหมด 4 วิธี ดังนี้

  1. ลดการใช้จ่าย และเพิ่มการเก็บออม

เราต้องสำรวจรายรับและรายจ่ายของตนเอง เพื่อหาวิธีลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยพิจารณาอย่างรอบคอบในการซื้อสินค้าหรือบริการ รวมถึงการปรับแผนการเงินให้เหมาะสมกับสภาพการเงินในปัจจุบัน หันมาออมเงินกับธนาคารมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เราก็จะยิ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารที่สูงขึ้น

  1. ชำระหรือจัดการหนี้สินที่ดอกเบี้ยสูง

เร่งสร้างแผนการชำระหนี้ที่เหมาะสม และทำได้ตามความสามารถของตนเอง หากเป็นไปได้ควรชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยลง หรือให้ทำการโยกย้ายหนี้ไปอยู่กับสินเชื่อที่มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม

  1. ลงทุนหุ้นกู้ในช่วงขึ้นอัตราดอกเบี้ย

การลงทุนในช่วงที่มีการขึ้นดอกเบี้ย เรียกได้ว่าเป็นช่วงสำหรับการตักตวงผลประโยชน์ นักลงทุนที่มีเงินเย็น ส่วนมากจะหาโอกาสลงทุนในหุ้นกู้แบบระยะสั้น เพื่อให้ได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าเดิม กำไรที่ได้รับมาก็จะสามารถนำไปลงทุนต่อยอดในอนาคตได้อีกด้วย

  1. ลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ

ในช่วงที่ดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นตามนโยบาย การลงในทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี แต่อาจจะต้องมีเงินทุนมากพอในระดับหนึ่งด้วย เช่น การลงทุนในทองคำ ที่สามารถการันตีได้ว่าทองจะยังคงเป็นสิ่งที่มีมูลค่าอยู่เสมอ โดยมูลค่าจะสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ จึงเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว เป็นต้น

ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตาม ทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือนโยบายการเงินอื่น ๆ หากเรามีวิธีรับมือและวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะสามารถสร้างผลประโยชน์จากสถานการณ์เหล่านั้นได้ ทั้งนี้จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยตามความเหมาะสมของช่วงเวลานั้น ๆ และความมั่นคงทางการเงินนั้นเราสามารถสร้างขึ้นมาได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ดีแค่ไหนเท่านั้นเอง